หากย้อนกลับไปราว 20 ปีที่แล้ว สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราเคยมาออกค่ายอาสาพัฒนากันที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่อยู่ใจกลางผืนป่า ล้อมรอบด้วยภูเขา ในดินแดนที่ห่างไกล อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
จำได้ว่าในสมัยนั้นเราต้องเดินทางด้วยรถไฟชั้น3 จากกรุงเทพไปเชียงใหม่ กับเพื่อนพี่น้องร่วมคณะ ใช้เวลาร่วม 18 ชม. จากนั้นต้องต่อรถยีเอ็มซีทหารขนทั้งผู้คนชาวค่าย อาหาร วัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้าง ฯลฯ ไปตามทางบนเขาที่คดเคี้ยวจากเชียงใหม่ สู่ถนนสายพร้าว - เวียงป่าเป้า หลายชั่วโมงกว่าจะมาถึงปากทางเข้าหมู่บ้าน ที่ยังเป็นเส้นทางดินเล็กๆ ตามธรรมชาติ ที่ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ สมบุกสมบัน รถทหาร รถเครื่องของชาวบ้าน หรือเรียบง่ายสุด คือ “เดินเท้าเข้าไป” อีก 2-3 กม. ถึงจะเจอชุมชนชาวปกาเกอะญอ เล็กๆ ราว 20 ครอบครัว ที่อยู่กันแบบเรียบง่ายมากว่า 100 ปี กับภารกิจการดูแลผืนป่ากว่า 10,000 ไร่
“สร้างถนนเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยประสบการณ์”
ในวันนั้นเราไม่รู้หรอกว่าหมู่บ้านแห่งนี้ซ่อนความยิ่งใหญ่ไว้เพียงไหน ในใจคือเราอยากมาอาสาพัฒนาชุมชนที่ห่างไกล เรียนรู้การเป็นผู้ให้ในสิ่งที่เราพอให้ได้ ซึ่งในสมัยนั้นสิ่งที่ชุมชนต้องการคือ “ถนนคอนกรีต” ช่วงสั้นๆ บนทางดินค่อนข้างชัน ที่เมื่อฝนตกลงมาถนนดินนี้จะลื่นมาก จนไม่สามารถเอารถเครื่องออกได้ ซึ่งลำบากมากหากใครต้องไปทำธุระใดๆ, เจ็บป่วยไม่สบายต้องไปโรงพยาบาลในอำเภอ ดังนั้นค่ายอาสาพัฒนาของเราชาวเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ในปีนั้น จึงมีเป้าหมายในการ “สร้างถนนคอนกรีต” ระยะทางสั้นๆ ราว 80 -100 เมตร ตามกำลังที่มี
ในวัยนั้นการได้ทำงานร่วมกับเพื่อน พี่น้อง และชุมชน ถือเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า ทั้งเรียนรู้การทำถนนร่วมกับชุมชน โดยใช้ไม้ไผ่ แทนเหล็กเส้น ร่วมกันผสมปูน ปั้นซาลาเปา ทำน้ำเต้าหู้ ทำอาหารสารพัดด้วยโปรตีนเกษตร สอนหนังสือเด็กๆ จับน้องๆมาแปรงฟัน เตะบอลบนสนามดิน เล่นกีตาร์ร้องเพลงร่วมกับชุมชน นอนรวมกันในโรงเรือนเล็กๆ หลายสิบชีวิตไม่แบ่งชายหญิง อาบน้ำในลำธาร เดินป่า เที่ยวไร่ชาวปกาเกอะญอ จุดตะเกียงน้ำมัน ตะเกียงเจ้าพายุ เพราะไม่มีไฟฟ้า หุงข้าวด้วยเตาถ่าน หินสามกอง ก่อฟืน กินข้าวสามกษัตริย์ ทานอาหารแบบพื้นเมืองเท่าที่มี เรียนรู้การเรียกฝากตัวเป็นลูกหลานคนในหมู่บ้าน กระจายตัวไปนอนร่วมกับบ้านพ่อแม่ในชุมชน ฯลฯ โดยไม่เอาวัฒนธรรมความฟุ้งเฟ้อของชุมชนเมืองไปสู่ชาวบ้าน เราใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านนี้ราว 2 สัปดาห์ ก่อนส่งมอบถนนเส้นเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยความตั้งใจของพวกเราให้ชาวบ้านด้วยรอยยิ้ม และความทรงจำที่ดีซึ่งกันและกัน
“กลับมาโดยโชคชะตา มาชมต้นไม้ สิ่งที่ได้ คือ ความทรงจำ”
ใครจะรู้ว่าเราจะมีโอกาสกลับมาที่นี่อีกครั้งโดยไม่ตั้งใจ ด้วยอ้ายจบ สล่าที่มาช่วยต่อเติมบ้านที่เชียงราย จนได้รักและเคารพกันเหมือนครอบครัว รู้ว่าผมชอบต้นไม้ใหญ่ จึงอาสาจัดเวลาพาไปเที่ยวป่า โดยบอกว่ามีหมู่บ้านหนึ่งอยู่ห่างจากบ้านผมที่ซื้อไว้ราว 20 กม. รักษาป่าไม้ไว้ได้เป็นหมื่นไร่ และมีต้นไม้ใหญ่ที่คุณบอมต้องชอบแน่ๆ อยากพาไปดู ก็เลยพากันมา แต่เมื่อขับรถมายิ่งใกล้ มันก็ยิ่งคุ้น จนอ้ายจบบอกว่าบ้านที่จะไปชื่อ “บ้านห้วยหินลาดใน” ความทรงจำย้อนขึ้นมา บอกว่า “ผมต้องเคยมาที่นี่ในอดีตแน่ๆ” พอเห็นปากทางเข้าเท่านั้น ก็จำได้ทันทีว่าใช่แน่นอน
“พัฒนาอย่างน่าภูมิใจ รักษาไว้ทั้งป่าไม้ วิถีชีวิต และรอยยิ้ม”
เมื่อขับรถมาจอด ณ จุดที่เราเคยมาสร้างถนนไว้ในอดีตเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ระหว่างที่อ้ายจบ เดินไปหาละอ่อนมาช่วยนำทางในการเดินป่าไปหาต้นไม้ยักษ์ ผมก็เดินสำรวจความทรงจำในอดีต สิ่งที่ได้เห็นและทำให้ยิ้มได้คือ บ้านห้วยหินลาดใน “มีการพัฒนา แต่ไม่ลืมรากความเป็นตัวเอง” คือเส้นทางเข้าหมู่บ้านตลอด 2 กม. มีถนนคอนกรีตเล็กๆ เชื่อมต่อถึงถนนหลัก มีไฟฟ้าโดยใช้ Solar Cell มีอาคารเรียนที่ดีขึ้น มีสนามกีฬาเล็กๆ
แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีขนบธรรมเนียมในการรักษา ดูแลป่ากว่าหมื่นไร่ด้วยคนในชุมชนเพียงร้อยกว่าคน ด้วยวิธีความเชื่อได้อย่างแข็งขัน และที่สำคัญอยู่ได้อย่างมีความสุข มีรอยยิ้มง่าย และกว้างยิ่งกว่าคนในชุมชนเมือง โดยไม่จำเป็นต้องมีรายได้สูง และไม่ได้คิดว่าตนเองลำบากหรือยากจนแต่อย่างใด ใครเอาของไปให้ก็ไม่ใคร่อยากได้ อยากมี อยากรับ แต่จะพิจารณาร่วมกันก่อนว่ามีประโยชน์กับชุมชนหรือผลเสียมากกว่ากัน ถ้ารับมาแล้วทำให้วิธีชีวิตที่มีความสุขหายไป ขอเลือกอยู่อย่างพอเพียงดีกว่า แต่ทุกครอบคัวล้วนกินอิ่ม นอนหลับมีอาหารบริบูรณ์ทั้งการปลูกผักรอบหมู่บ้าน ปลูกชาพันธุ์พื้นเมือง เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมด้วยไมตรีจิตที่ดี
“ต้นไม้ใหญ่หลายคนโอบ รักษาไว้ด้วยใจของคนในชุมชน”
บ้านห้วยหินลาดใน คือ หลักฐานชิ้นสำคัญของการที่ชุมชนปกาเกอะญอที่มีความเชื่อและศรัทธาในธรรมชาติ สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน แตกต่างกับหลายชนเผ่าที่ถัดไปเพียงพ้นเขตหมู่บ้านที่พวกเค้าดูแล กลับกลายไปไร่ข้าวโพด ไร่กระเทียม ที่โค่นไม้ใหญ่ยืนต้นแทบจะเรียบ แต่ในหมู่บ้านห้วยหินลาดในนี้ แค่เข้ามาก็ร่มเย็น เดินเข้าป่าไม่ต้องไกล แค่รอบหมู่บ้านก็จะอบอวลไปด้วยกลิ่นดอกไม้ป่า และเห็นไพรพนาขนาดหลายคนโอบได้ทั่วไป เติมพลังชีวิตได้เป็นอย่างดี
“ผ่านไปร่วม 20 ปี ชุมชนยังจำได้ กลายเป็นต้นแบบระดับโลก”
อีกเรื่องที่สุดประทับใจ คือ เราได้มีโอกาสไปพูดคุยกับผู้ดูแลโรงเรียนและพ่อแม่ตามบ้านต่างๆ หลายคนที่อายุเกิน 30 ปีขึ้นไป ยังจำพวกชื่อพวกเราชาวค่ายเศรษฐศาสตร์ได้อย่างแม่นยำ ทั้งชื่อ พี่ยักษ์ ต่อ จ๊อ อ๊อฟ กิ๊ฟ แพร นุช ตู่ บอม ฯลฯ พร้อมต้อนรับยกน้ำชามาเลี้ยงดูกันอย่างดี
และยิ่งดีใจมากๆ เมื่อรู้ว่าพ่อหลวงปรีชา ศิริ ผู้นำแห่งชุมชนบ้านห้วยหินลาดในแห่งนี้ ได้รับรางวัล Forest Hero หรือ “วีรบุรุษผู้รักษาป่า” จากสภาสหประชาชาติว่าด้วยป่าไม้ (United Nations Forum on Forests) ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นปีสากลแห่งป่า ที่มอบให้แก่บุคคลจาก 5 ภูมิภาค คือ แอฟริกา, เอเชียแปซิฟิค, ยุโรป, ละตินอเมริกาและแคริบเบียน, และอเมริกาเหนือ เพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ถึงการอุทิศชีวิตของพวกเขาเพื่อปกป้องป่า ถือเป็นหนึ่งในสุดยอด 5 คนของโลก ที่เกิดจากการร่วมใจของคนในชุมชนเพียงร้อยกว่าคน แต่สามารถช่วยกันดูแลผืนป่านับหมื่นไร่ จนเป็นป่าที่สมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำที่ใสสะอาดแห่งสำคัญของเชียงราย
“เชื่อมต่ออดีตสู่ปัจจุบัน และเรื่องราวมากมายในอนาคต”
เมื่อมองย้อนกลับไป การที่เราตั้งใจเป็นผู้ให้ กลับทำให้เราได้เรียนรู้มากมายจนเป็นรากฐานการเติบโตในวันนี้ เราเชื่อมั่นว่าจะมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมเยือนที่นี่อีกแน่นอน ไว้จะมาเล่าใหม่นะครับ
บันทึกไว้ระหว่างการเดินทาง บอม โอฬาร วีระนนท์ CEO and Co-Founder, DURIAN Director & Co-Founder, 2morrowScaler
Comments