สิ้นสุดหน้าที่การเป็นบอร์ดส่งเสริม สสว. กับ หน้าที่ท้าทายบทต่อไป
ตลอดระยะเวลา 1 ปี 10 เดือน ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติ ในการสนับสนุนคนตัวเล็กทั้ง SMEs และ Startup ของประเทศไทย ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2563 เป็นต้นมา
จนถึงวันสุดท้ายที่ผมลงนามในใบลาออกจากตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ในวันที่ 19 เม.ย. 2565 รวมถึงได้รับความไว้วางใจ ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการ, คณะอนุกรรมการตรวจสอบ, สสว. ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. 2564 - 19 เม.ย. 2565 นั้น ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี มีเรื่องราวต่างๆ มากมาย ที่ได้มีส่วนร่วม และเรียนรู้ ขอบันทึกส่วนหนึ่งของความทรงจำเพื่อเตือนใจตนเอง และอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ ดังนี้
“ 10 สิ่งที่ได้เรียนรู้ กับการทำหน้าที่เป็นบอร์ดส่งเสริม สสว. ”
1.เมื่อได้รับโอกาส จงทำมันให้ดีที่สุด
คณะกรรมการส่งเสริม ถือเป็นหนึ่งในบอร์ดสูงสุด ที่ร่วมกำหนดนโยบายของประเทศในมิติของการส่งเสริม SMEs มีคณะกรรมการทั้งสิ้น 30 ท่าน เท่ากับจำนวนรัฐมนตรีของประเทศไทย โดยมี
- นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นประธานกรรมการ
- มีรองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นรองประธาน
- มีรัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวงได้แก่ รมว.กระทรวงการคลัง, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม
- ปลัดกระทรวงอีก 4 กระทรวง คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงอุตสาหกรรม
- ผู้นำสูงสุดของ 4 องค์กรที่ดูแลเรื่องงบประมาณ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ, เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
- ประธานสภา / สมาคม หลักของประเทศ 5 องค์กรหลัก คือ สภาเกษตรกรแห่งชาติ, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย
- ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคต่างๆ อีก 10 คน ในที่นี้เป็นภาคเอกชน 7 ท่าน (ผมเป็น 1 ใน 7 ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน)
- ผู้อํานวยการ สสว. ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ
จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงสุดของประเทศ ดังนั้นการที่เราได้รับเกียรติเข้าไป ก็แปลว่า เราต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่น้อยกว่าผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านเช่นกัน ดังนั้นการทำการบ้าน เตรียมข้อมูล และการกล้านำเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์ในภาพรวม ที่ไม่ใช่แค่ประโยชน์ส่วนตน เป็นสิ่งที่เราต้องพึงรำลึก และใช้ทุกนาทีที่มีโอกาสอย่างดีที่สุดเสมอ
2.เมื่อโอกาสไม่มี ผู้สร้างเวทีต้องเป็นเราเอง
- ในฐานะคนตัวเล็ก ที่อยู่ในเวทีใหญ่ๆ แน่นอนว่า ถ้าเทียบกับผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนแล้ว ต่อให้เราเป็นคนที่เล็กที่สุดในวง และไม่มีโอกาสแบบเป็นทางการในการนำเสนอ แต่หากเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราต้องการนำเสนอ ว่าเป็นผลดีต่อผู้คน ธุรกิจ และสังคมในภาพรวม อย่ารีรอในการสร้างโอกาส ให้สมกับเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่เราได้รับการคัดเลือกมา และใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพ
3.อย่าเสียเวลาโฆษณาตนเอง
- การประชุมในระดับสูงนั้น เราแนะนำตัวสั้นๆ ก็เพียงพอ ไม่ต้องโฆษณาตนเองมาก เพราะทุกคนที่ถูกคัดสรรมา ล้วนมีคุณสมบัติที่มากพอ มีดีในมุมของตน เป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับ และต่างถูก Screen ประวัติมาอย่างดี ดังนั้น จงใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ต่อที่ประชุมและประเทศอย่างสูงสุด จะได้รับการยอมรับกว่ามากนัก
4.เจาะลงไปที่แก่นของเนื้อหา โดยเน้นที่คุณค่าที่ผู้ฟังได้รับ
- จงใช้เวลาทุกวินาทีอย่างมีคุณค่า เจาะลงไปที่เนื้อหา แต่นำเสนออย่าง High Impact ด้วยความมั่นใจ จริงใจ สั้น กระชับ มี Key word ให้คนจดจำได้ ตัดประเด็นที่ซ้ำซ้อนออกไป เหลือแต่แก่นที่เป็นหัวใจของการนำเสนอ ที่เราเชี่ยวชาญ รู้จริง และทำข้อมูลมา เพื่อต้องการให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ธุรกิจ และสังคม
5.สิ่งที่เราเห็นจากสื่อ อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริงๆ
- อีกมุมหนึ่งที่ผมได้เห็นและเรียนรู้ จากการเข้าร่วมประชุมกับลุงตู่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทยนั้น ผมบอกได้จากใจว่าในทุกคั้งที่ผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมร่วมกันในฐานะบอร์ดส่งเสริม สสว. นายกฯ มีความตั้งใจดีจริงๆ มีการทำการบ้าน อ่านข้อมูลก่อนเข้าร่วมประชุม ตามทันเนื้อหาที่ยากและซับซ้อนได้เป็นอย่างดี ในหลายครั้งนายกฯ พยายามสร้างความมีส่วนร่วมให้กรรมการต่างๆ แสดงความคิดเห็น ให้เกียรติผู้อื่นอย่างเหมาะสม ไม่ได้เป็นดังภาพที่เราเห็นผ่านสื่อ Social Media ต่างๆ เสมอไป
6.ข้อควรระวังเมื่อเราขึ้นสู่บทบาทที่สูงขึ้น คือ “คนรอบข้าง” และ “ข้อมูลที่รายล้อม”
- คบทุกคนได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ควรคบ, ใช้ทุกคนได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ควรใช้ เป็นสิ่งที่ควรตระหนักไว้เสมอ เมื่อเป็นคณะกรรมการระดับสูงในทุกองค์กร เราอาจไม่ได้มีเวลาในการลงไปติดตามงานทุกอย่างด้วยตนเอง ดังนั้นสิ่งที่จะมาถึงเรา ล้วนเป็นข้อมูลที่ถูกส่งและกลั่นกรองมาจาก “ทีมงาน และคนรอบข้าง” เราจะรู้ได้อย่างไรว่า “ข้อมูลนั้น ถูกต้องและเหมาะสม” และมีมุมมองใด ที่สำคัญ ที่เราควรเจาะลงไป ควร Benchmark กับใคร ในหรือต่างประเทศ ใช้ตัวอะไรเป็นชี้วัด ทั้งในมุมของผลงาน การสื่อสารทั้งในองค์กรและออกสู่สังคมในวงกว้าง อะไรคือสิ่งที่สะท้อนกลับมาให้เราสามารถพัฒนา ปรับปรุงได้อย่างเหมาะสม เพราะสิ่งใดที่วัดผลไม่ได้ ย่อมพัฒนาไม่ได้ และแน่นอนว่า การได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ย่อมทำให้การตัดสินใจคลาดเคลื่อนไปได้เช่นกัน
7.เรียนรู้ เพื่อพัฒนา
- ทุกครั้งที่เราได้โอกาสในการทำงานกับผู้คนในทุกระดับ จงเรียนรู้ในทุกขณะอย่างดีที่สุด ยิ่งมีโอกาสทำงานกับคนเก่งๆ ยิ่งต้องเรียนรู้ที่จะฟัง เก็บข้อมูล บางสิ่งเราสามารถแนะนำพัฒนาได้ อย่ารีรอที่จะทำ หลายสิ่งอาจต้องรอเวลา ก็ต้องรู้จักจังหวะเวลา เร็วช้า หนัก เบา ทำงานเป็นทีมให้เป็น และสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี กับผู้คนรอบข้างอยู่เสมอ
8.ไม่ใช่แค่ทำ จงสื่อสาร อย่างต่อเนื่อง และมีกลยุทธ์
- ตลอดเกือบ 2 ปีที่ได้มีโอกาสทำงานในฐานะคณะกรรมการส่งเสริมฯ เราได้เห็นโครงการดีๆ มากมาย ที่ สสว. ตั้งใจทำ ส่งเสริม และได้รับการอนุมัติ ทั้งเรื่องการส่งเสริมให้ SMEs ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP เพื่อเข้าตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 1.3 ล้านล้านบาท, โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ (Business Development Service) ให้ SME ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่จาก Business Development Service Provider : BDSP ในด้านที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตน โดย สสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาให้แก่ผู้ประกอบการ SME แบบร่วมจ่าย (co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50–80, โครงการยกระดับศักยภาพ SMEs, การสนับสนุนโครงการสินเชื่อต่างๆ ร่วมกับ SMEs D Bank และอื่นๆ อีกมากมาย
- อย่างไรก็ตามหากเราสามารถสื่อสารอย่างเป็นระบบไม่ใช่แค่จำนวนคนเข้าโครงการ แต่เป็นการสร้างการรับรู้ให้ผู้คนในวงกว้าง ทั้งกลุ่มเป้าหมาย ภาคประชาชน สังคมรับรู้ มีส่วนร่วมในการพัฒนา และตรวจสอบได้ จะยิ่งทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ SMEs และ Startup ได้มากกว่านี้อีกมาก อันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมยิ่งขึ้น
9.จะให้ได้ผล ต้องให้ความสำคัญ ต่อเนื่อง จริงจัง และทำเป็น
- ข้อนี้พูดถึงการทำงานใหญ่ ในภาพรวมทั้งภาครัฐ และเอกชน ไม่ใช่แค่ สสว. หลายเรื่องที่เป็นเรื่องที่ดี มีการดำเนินการที่ได้ผล แต่กลับไม่สามารถทำต่อเนื่องด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดค่านิยม การสร้างนโยบายอย่างฉาบฉวย เน้นทำแบบ One-off ครั้งเดียวจบ ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ขาดการพัฒนารากฐานในระยะยาว ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
- หรือบางครั้งโครงการต่างๆ ที่ได้รับการอนุมัติเป็นโครงการที่ดี นโยบายที่น่าชื่นชม แต่พอไปถึงการดำเนินการ กลับไม่ใช้มืออาชีพ ที่ทำเป็นในการดำเนินการ แต่กลับใช้ผู้คน หรือองค์กรที่ไม่เข้าใจ ขาดประสบการณ์ในการเนินการ หรือยึดติดกับการดำเนินการในรูปแบบเดิมๆ โดยไม่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย หรือเห็นแก่พรรคพวก ทำให้นโยบายดีๆ ต้องเสียไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ ผมเชื่อมั่นและสนับสนุนว่าประเทศนี้ควรมี “กระทรวง SMEs” จริงๆ ที่จะผลักดันนโยบายเพื่อคนตัวเล็กอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง จากมืออาชีพ ที่ทำเป็นจริงๆ และมีงบประมาณที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ โดย Benchmark กับระดับนานาชาติ และตั้งเป้าการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดให้เป็นแนวหน้าของเอเซีย
10.อย่ายึดติดกับตำแหน่ง
- ตำแหน่งใดๆ ที่เรามีหรือได้รับ ล้วนเป็นสิ่งสมมุติ การสิ้นสุดบทบาทใดๆ ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นความท้าทายใหม่ๆ เสมอ ไม่ว่าเราอยู่ในบทบาทใด หน้าที่ใด มีตำแหน่งหรือไม่ ไม่สำคัญ เชื่อเถอะว่า เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตทั้งของตัวเอง และประเทศไทย ไปด้วยกันได้เสมอ
สุดท้าย ขอขอบคุณ
- ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พี่กอบ กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ไว้วางใจในการเสนอชื่อและให้โอกาส คนตัวเล็กๆ ได้ทำหน้าที่ในบทบาทอันทรงเกียรติ
- ขอบคุณลุงตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี ที่มีมติ ครม. ในวันที่ 23 มิถุนายน 2563 อนุมัติรายชื่อดังกล่าว
- ขอบคุณพี่เส้น คุณมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการ คณะกรรมการบริหาร สสว. ที่ไว้วางใจ ให้ความรู้และโอกาสน้องชายคนนี้เสมอ
- ขอบคุณพี่เอก เอก ณพพงศ์ พี่มี่ Amy Chonrungsee Chalermchaikit พี่แสง แสงชัย ธีรกุลวาณิช แห่งสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ที่ผสานพลังเพื่อคนตัวเล็กร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
- ขอบคุณชาวเราเหล่า DurianCorp. และ พี่ตุ๊กตา Ta Tukta ที่อดทน ติดตาม และสนับสนุน ในภาพกิจเพื่อสังคม และประเทศชาติ ให้ผมได้ทำงานเต็มที่ในทุกสิ่งที่เลือกทำเสมอ
- ขอบคุณพี่ๆคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), คณะอนุกรรมการตรวจสอบ ตลอดจนผู้บริหาร พนักงาน สสว.ทุกท่าน ที่ร่วมกันทำงานเพื่อ SMEs, Startup และเหล่าคนตัวเล็กของประเทศไทย
ตลอดระยะเวลา 1 ปี 10 เดือน คือประสบการณ์อันล้ำค่า ที่เชื่อมั่นว่า จะนำมาต่อยอดและพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งตนเอง ธุรกิจ สังคม และประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ร่วมสร้างอนาคตไทยไปด้วยกัน
ด้วยความปรารถนาดี
บอม โอฬาร วีระนนท์
- CEO and Co-founder, DURIAN
- CEO and Co-founder, Yak Green (ยักษ์เขียว)
📍www.bomolarn.com
📍www.tojo.news
📍www.duriancorp.com
ปล.ดูบทความย้อนหลังได้ทาง
สิ่งที่ได้เรียนรู้ จากการประชุมร่วมกับ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ณ ทำเนียบรัฐบาล (8 มีนาคม 2564)
“ดึงเงิน 1.3 ล้านล้านบาท จากภาครัฐ เข้ากระเป๋า SMEs ทำอย่างไร?”
#BomOlarn #BomOlarn2022 #สร้างอนาคตไทย
#ประเทศไทยพัฒนาได้ถ้าร่วมใจกัน
Comments