บันทึกไว้ เพื่อเตือนใจตัวเอง และเรียนรู้ต่อยอดสู่อนาคตดังนี้
วันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ครั้งที่ 1/2564 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ, รองนายกฯ เป็นรองประธาน และมีผู้บริหารสูงสุดหรือผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น รมว.คลัง, รมว.พาณิชย์, รมว.เกษตรและสหกรณ์, รมว.อุตสาหกรรม, ปลัดกระทรวงแรงงาน, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวง อว., ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, เลขาธิการสภาพัฒน์, ประธานสภาหอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, สมาคมธนาคารไทย, สภาเกษตรกรแห่งชาติ, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ฯลฯ ที่ล้วนเป็นกลจักรหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทย
ผมได้รับเกียรติเข้าไปทำหน้าที่ในหนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนในบอร์ดส่งเสริมฯ ร่วมกับทุกท่านด้านบน ในฐานะตัวแทน “คนตัวเล็ก” ที่มีประสบการณ์ทำงานพัฒนา ร่วมกับทุกภาคส่วนทั้ง SMEs, Startup ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนอย่างจริงจัง
หัวใจในการประชุม มีหลายประเด็น แต่ที่น่าสนใจ คือ
- การพิจารณาความคืบหน้าการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ - รายงานความคืบหน้าการจัดทำ SME Big Data / SME Master Data - การเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการสนับสนุนด้านธุรกิจในโครงการ “เอสเอ็มอีคนละครึ่ง" ฯลฯ
" 3 สิ่งที่ได้เรียนรู้ จากการเข้าพบนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา "
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้พบ หรือถ่ายรูปร่วมกับนายก แต่เป็นครั้งที่มีโอกาสได้แสดงความเห็นแลกเปลี่ยนและสังเกตุในหลายมิติ จึงอยากบันทึกไว้เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน
1.เมื่อได้รับโอกาส จงทำมันให้ดีที่สุด
-ทุกขณะที่เข้าร่วมประชุม เราคิดเสมอ ว่าเราคือตัวแทน คนตัวเล็ก ที่มีโอกาสพูดกับผู้กำหนดนโยบายของประเทศ จึงทำการบ้านในทุกประเด็น และไม่รีรอ ที่จะแสดงความเห็นที่เป็นเสียงสะท้อน จากคนที่ต่อสู่อยู่ใน Real Sector สะท้อนปัญหา และหาวิธีการเพื่อให้ภาครัฐได้ทราบ เพื่อสร้างและ Implement นโยบายสู่การปฏิบัติให้ดีขึ้นในมุมที่เราทำได้
2.เมื่อโอกาสไม่มี ผู้สร้างเวทีต้องเป็นเราเอง
-ในฐานะคนตัวเล็ก ที่อยู่ในเวทีใหญ่ๆ แน่นอนว่า ถ้าเทียบกับผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนแล้ว ต่อให้เราเป็นคนที่เล็กที่สุดในวง และไม่มีโอกาสแบบเป็นทางการในการนำเสนอ แต่หากเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราคิด และอยากนำเสนอมันเป็นผลดีต่อผู้คน ธุรกิจ และสังคมในภาพรวม อย่ารีรอในการสร้างโอกาส ให้สมกับเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่เราได้รับการคัดเลือกมา และใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
3.เจาะลงไปที่แก่นของเนื้อหา โดยเน้นที่คุณค่าที่ผู้ฟังได้รับ
-จงใช้เวลาทุกวินาทีอย่างมีคุณค่า เจาะลงไปที่เนื้อหา แต่นำเสนออย่าง High Impact ด้วยความมั่นใจ และจริงใจ เพื่อให้ไม่ต้องเสียใจ ในการใช้โอกาสนั้นอย่างดีที่สุด ทั้งเพื่อตนเอง ภาคธุรกิจ และสังคม
" 5 สิ่งที่ได้เห็น จากลุงตู่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำประเทศไทย "
1.นายกฯ มีความตั้งใจดีจริงๆ
-ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมฯ มีกำหนดการประชุมกันในทุกๆ 3 เดือน เป็นหนึ่งในคณะที่นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ สังเกตุจากทุกครั้งที่เราได้เข้าร่วม นายกฯ จะให้เกียรติมาเป็นประธานด้วยตนเองทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน ตลอดช่วงเวลาการประชุมกว่า 2 ชม. สิ่งที่สังเกตุได้ชัดเจน โดยไม่ต้องอวยใดๆ คือ “นายกมีความตั้งใจมากๆ” ทั้งในมิติการรับฟังผู้เข้าร่วมประชุม จับประเด็น จดประเด็นการสนทนา พยายามเปิดโอกาสให้ผู้อื่นแสดงความคิดเห็น และทำการบ้านล่วงหน้า (สังเกตุได้ชัดจาการสื่อสาร ที่รู้ว่าศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดี)
2.พยายามสร้างความมีส่วนร่วม
-สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากในจอสื่อต่างๆ ที่เราอาจมีเวลาดูข่าวเพียงสั้นๆ คือการได้เห็นความพยายามของลุงตู่ในการสร้างการมีส่วนร่วมและเปิดโอกาสให้แสดงความเห็น (แม้จะไม่มีใครแสดงความเห็นมากนัก)
3.ให้เกียรติผู้อื่น
-สังเกตุได้ชัดเจน จากการตั้งใจรับฟังการแสดงความเห็นและการนำเสนอจากทุกคนอย่างตั้งใจ โดยไม่สนใจว่าตำแหน่งจะใหญ่หรือเล็ก โดยผมกดไมโครโฟนพูดแทนคนตัวเล็กว่า “ทำไม SMEs และ Startup จึงมีส่วนร่วมในการ จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐน้อย” ซึ่งนายกตั้งใจฟังและโต้ตอบพูดคุยกันอยู่นานตลอดการประชุม จนกระทั่งนายกจำชื่อเล่นได้ และยังมาตบไหล่แสดงความใส่ใจทักทายตอนจบการประชุม พร้อมบอกว่า “บอม ดีแล้วที่คนตัวเล็กแบบนี้เข้ามาช่วยกันทำ พร้อมชี้ไปที่พี่สุพันธ์ (ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ) นี่ทั้งสองคนมาร่วมมือกันทั้งคนตัวใหญ่ คนตัวเล็ก จะได้ช่วยกันพัฒนาประเทศได้”
4.โอกาสมหาศาล ของทีมสื่อสารที่จะสามารถทำให้ดีกว่านี้
-สิ่งที่เห็นได้อีกอย่างคือ หลังจากจบการประชุมบอร์ดส่งเสริม สสว. แล้วตามอ่านประเด็นที่เราร่วมประชุมกันตามสื่อ Internet ต่างๆ เห็นได้ชัดเจนว่า “ทีมสื่อสารของรัฐบาล ยังมีโอกาสปรับปรุงการทำงานได้อีกมากกกกกกก” ทั้งในเชิงพื้นที่การประชาสัมพันธ์ และเนื้อหาของการประชุมที่เป็นประโยชน์ต่อ SMEs และสังคมในวงกว้าง ที่ทำให้คนได้รับรู้ไม่มากนัก น่าเสียดายที่โครงการที่เป็นประโยชน์แต่หากคนรับรู้ได้น้อย ก็ยิ่งทำให้นโยบายใดๆ ลดประสิทธิภาพลงไปมาก
5.SMEs, BCG และ Startup เป็นเรื่องที่นายกให้ความใส่ใจ
-อีกสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ นายกฯ ลุงตู่ ให้ความสำคัญกับการพัฒนา SMEs ธุรกิจนวัตกรรม และ Startup มากๆ ทั้งในเรื่องการทำ Big Data และ SME Master Data ก็ให้เพิ่ม Sector ของ Startup และ BCG ลงไป เพราะหากมี Dashboard ที่วัดผลได้ เราก็จะสามารถรู้ว่า เราอยู่จุดไหน และพัฒนาต่อไปได้
สุดท้ายนี้ ชื่นชม ยังมีความหวัง เป็นกำลังใจให้ #ลุงตู่ จากหัวใจจริงๆ ครับ
ผมเป็นคนหนึ่งที่กาเลือกตั้งให้ลุงตู่ด้วยความหวัง และมีเรื่องที่ทั้งดีใจ และเสียดายโอกาสในหลายครั้ง
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม อยากให้ลุงตู่ใช้เวลาที่เหลือ ที่เชื่อว่าอาจไม่มากนัก เพราะลุงตู่ก็คงมีวะระเวลาในใจ ใช้พลังและอำนาจที่มี สร้างโอกาสดีๆ ใช้คนที่เหมาะสม มีศักยภาพ ในการพัฒนาประเทศอย่างตรงไปตรงมา และทำให้คนเห็นได้ว่า #คนตัวเล็กก็มีโอกาสเติบโต และไม่ว่าใคร ก็ควรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างประเทศไทยที่เข้มแข็ง ส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปอย่างมีพลัง สมกับความตั้งใจของลุงตู่เองครับ
สุดท้ายนี้ขออัญเชิญ พระบรมราโชวาท ของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาฝากไว้ดังนี้
“ ... เมื่อมีโอกาส และมีงานให้ทำ ควรเต็มใจทำ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยันซื่อสัตย์สุจริต ก็จะยิ่งช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น ... ”
- พระบรมราโชวาท ของพระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) - ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วันที่ 8 กรกฏาคม พ.ศ.2530
In the end we only regret the chance we didn’t take.
บันทึกไว้เตือนใจตัวเอง ติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ www.bomolarn.com www.tojo.news
บอม โอฬาร วีระนนท์ -CEO and Co-Founder, DURIAN -CEO and Co-Founder, ยักษ์เขียว -นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย -กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) -ที่ปรึกษาการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4, ธนาคารแห่งประเทศไทย
Opmerkingen